การบริหารจัดการน้ำ

น้ำ คือ ทรัพยากรที่สำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินธุรกิจของเอสซีจีพี เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและให้ประโยชน์สูงสุด เอสซีจีพีได้นำหลักการ 3R มาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ (Reduce) นำน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตและผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ (Reuse, Recycle) และการฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำธรรมชาติในการปล่อยน้ำออกสู่แหล่งสาธารณะ เอสซีจีพีปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ ของกฏหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพหรือการใช้น้ำของชุมชนรอบโรงงาน

ในสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ที่ส่งผลกระทบอย่างสําคัญต่อการจัดการน้ำ เช่น ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ไม่ตกในพื้นที่ต้นน้ำ ปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนลดลง ประกอบกับความต้องการใช้น้ำที่มากขึ้นจากแนวโน้มการเพิ่มของประชากรโลก ทําให้เกิดความเสี่ยงที่ปริมาณน้ำอาจไม่เพียงพอต่อการใช้ภายในโรงงานและชุมชนใกล้เคียง เอสซีจีพีมุ่งมั่นยกระดับความสามารถในการบริหารจัดการน้ำ โดยมีคณะทำงานด้านการจัดการน้ำแบบบูรณาการร่วมกันในทุกธุรกิจ เพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านน้ำและประสิทธิภาพการใช้น้ำ มีหน่วยงานติดตามประเมินความเสี่ยงด้านการใช้น้ำ และทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม พร้อมนำเทคโนโลยีดิจิตัลและสร้างนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในกระบวนการผลิตและเพิ่มการนำน้ำที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่

กลยุทธ์การดำเนินงาน

1
การลดความเสี่ยงด้านน้ำ
ด้วยการบริหารจัดการน้ำ
อย่างบูรณาการ
2
เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์
3
บำบัดน้ำทิ้งให้ได้คุณภาพตามที่มาตรฐานกำหนด ติดตามปริมาณและคุณภาพ รายงานอุบัติการณ์สอบสวนสาเหตุ แก้ไขและลดการปล่อยน้ำทิ้ง
4
การนำน้ำเสียผ่านการบำบัดกลับมาใช้งาน
5
การพัฒนาความสามารถของบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านน้ำ
6
ฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำและสนับสนุนน้ำให้ชุมชน/เกษตรกรรม

เป้าหมาย

ภายในปี 2568
ลดการใช้น้ำจากภายนอกลง
35%
เทียบกับกรณีปกติ ณ ปีฐาน 2557

ผลดำเนินงานปี 2566

28.6%
ลดการใช้น้ำจากภายนอกลง
เทียบกับกรณีปกติ
ณ ปีฐาน 2557
17.0%
สัดส่วนการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่

ปริมาณน้ำใช้สุทธิ

เป้าหมาย: 15 ล้านลูกบาศก์เมตร

ปริมาณน้ำใช้สุทธิ

2566: 11.2 ล้านลูกบาศก์เมตร

กิจกรรมที่สำคัญ:
การประเมินความเสี่ยง
เอสซีจีพีมีระบบเฝ้าระวังและติดตามความเสี่ยงด้านน้ำในพื้นที่ต่างๆ ที่โรงงานตั้งอยู่ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงได้ทันสถานการณ์ ไม่ส่งผล กระทบต่อกระบวนการผลิตหรือการใช้น้ำร่วมกับ ผู้มีส่วนได้เสีย มีการประเมินความเสี่ยงด้านน้ำด้วยเครื่องมือระดับสากล เช่น WRI AQUEDUCT / การใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียม GISTDA รวมถึงระบบดิจิทัลที่สามารถประเมินสถานการณ์และแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า Early Warning Systems (EWS) โดยโปรแกรมจะเชื่อมโยง Application Programming Interface (API) ควบคู่กับโปรแกรม Power BI เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลออกมาเป็น Dashboard ในการตรวจติดตามสถานการณ์การใช้น้ำรายวันของธุรกิจ และเชื่อมกับข้อมูลสำคัญจากแหล่งต่างๆที่เกี่ยวข้องในประเทศ
การเพิ่มประสิทธิภาพ
เอสซีจีพีลดการใช้น้ำแบบบูรณาการ มีการเลือกใช้น้ำที่มีคุณภาพและปริมาณให้เหมาะสมกับการใช้งาน โดยพิจารณาการใช้น้ำจากภายนอก เช่น น้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน และน้ำประปา โดยคำนึงถึงปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ที่มีผลต่อต้นทุนการผลิต อีกทั้งได้มีการลงทุนทางเทคโนโลยี เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำในกระบวนการผลิต (Reduce) หมุนเวียนนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ และนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ (Reuse, Recycle) เช่น การติดตั้งและปรับปรุงเทคโนโลยีการกรองน้ำ และติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพื่อป้องกันการรั่วซึม
ความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง
ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 มีวัตถุประสงค์ให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมบูรณาการการทำงานเพื่อให้ขับเคลื่อนภารกิจด้านน้ำ เช่น การใช้น้ำ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา และการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำไปในทิศทางเดียวอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมในทุกมิติ มีความสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งสะท้อนกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ผู้บริหารระดับสูงจากเอสซีจีพี ผ่านการคัดเลือกจากสภาอุตสาหกรรม ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการองค์กรผู้ใช้น้ำนี้ เพื่อดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและวิถีชีวิตของประชาชน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ผู้แทนของเอสซีจีพีและคู่ธุรกิจจะมีส่วนเกี่ยวข้องในเขตลุ่มแม่น้ำ ที่สำคัญ 5 แห่ง ได้แก่ ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำท่าจีน
นอกจากนี้ SCGP มีการประเมินความเสี่ยงด้านน้ำและการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบด้านน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำในทุกโรงงาน โดยผลจากการประเมินพบว่าโรงงานของ SCGP ไม่มีพื้นที่ที่มีความเครียดด้านน้ำ (Water Stress) และมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการดำเนินงาน สำหรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบด้านน้ำ จะมีการกำหนดราคาเป็นปริมาณที่ใช้ ค่าธรรมเนียมน้ำจะถูกเรียกเก็บเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำที่ไม่ใช่เพื่อการหารายได้ แต่เป็นการเก็บตามประเภทของการใช้น้ำ ในอัตราที่แตกต่างกันจะถูกเรียกเก็บเพื่อครอบคลุมค่าธรรมเนียม ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 บทที่ 4 การจัดสรรและการใช้น้ำ มาตรา 41 ก่อนที่จะนำไปหารือต่อโดยคณะกรรมการลุ่มน้ำและคณะอนุกรรมการแหล่งน้ำจังหวัดและคณะอนุกรรมการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการจัดการและการใช้ทรัพยากรน้ำ สำหรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้อยู่ในระดับต่ำ